การประกอบพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

พิมพ์

เขียนโดย admin phetchabunpao วันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2010 เวลา 11:43 น.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจดังกล่าวดังต่อไปนี้ ในทุกท้องที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
1. การทำโรงสีข้าว และการทำโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
2. การขายสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดขายได้เป็นเงิน ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
3. การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
4. การประกอบหัตถกรรมหรือการอุสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้มีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้น หรือวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ ผลิตได้มีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป (สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทำสวนยางซึ่งนำ น้ำยางที่กรีดได้จากสวนยางของตนเอง มาทำเป็นยางแผ่น ยางดอก หรือยางรมควันออกขาย ในขณะนี้ได้รับ การผ่อนผันจะไม่จดทะเบียนพาณิชย์ก็ได้)
5. การขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟ หรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับจำนำ และการทำโรงแรม
6. การขายหรือให้เช่าแผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
7. การขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
8. การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
9. การบริการอินเทอร์เน็ต
10. การใช้เข่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
11. การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
12. การผลิต รับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
13. การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
14. การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
15. การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
16. การให้บริการตู้เพลง
17. โรงงานแปรสภาพ แกะสลักและการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกการค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ในกรณีที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจตาม 1-5 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ได้รับการยกเว้นไม่ต้อง จดทะเบียนพาณิชย์ แต่หากประกอบพาณิชยกิจตาม 6-17 จะไม่ได้รับการยกเว้นและต้องจดทะเบียนพาณิชย์เช่นเดียว กับบุคคลธรรมดา

หน้าที่ของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
หน้าที่ของผู้ประกอบพาณิชยกิจที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 มีดังต่อไปนี้
1. เมื่อจดทะเบียนแล้ว ต้องจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจแสดงไว้ที่หน้าสำนักงานแห่งใหญ่ โดยเปิดเผยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียน ป้ายนั้นให้เขียนเป็นอักษรไทยอ่านได้ง่ายและชัดเจน และจะมีอักษรต่างประเทศด้วยก็ได้ แต่อักษรต่างประเทศต้องอยู่ใต้ชื่อภาษาไทย สำนักงานสาขาทุกแห่งก็จะ ต้องใช้ชื่อและจัดให้มีป้ายเช่นเดียวกับสำนักงานใหญ่ และจะต้องมีคำว่า “สาขา” ด้วย
2. เมื่อได้รับใบทะเบียนพาณิชย์ (แบบ พค.0403) จากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จะต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานของตนในที่เปิดเผยซึ่งอาจเห็นได้ง่าย
3. ถ้าใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายหรือชำรุดต้องยื่นคำร้องขอรับใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่สูญหาย และเมื่อได้รับใบแทนไปแล้วก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับ ข้อ 2.
4. เมื่อนายทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการตรวจสอบในสำนักงานของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ก็จะต้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
5. เมื่อนายทะเบียนพาณิชย์เรียกผู้ประกอบพาณิชยกิจไปสอบสวนข้อความอันเกี่ยวกับการจดทะเบียน ผู้ประกอบพาณิชยกิจจะต้องไปพบนายทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเร็วและต้องให้ถ้อยคำที่เป็น ความจริงต่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่